บทวิจารณ์ : แผลเก่า ๒๕๕๗ รอยแผลเป็นทางสังคมไทย ?

แผลเก่า หวนกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๕๕๗ โดยฝีมือกำกับของหม่อมน้อย ที่พักหลักหยิบงานวรรณกรรมเก่าๆมาปัดฝุ่นแปลงโฉมให้เป็นหนังใหญ่ ไล่ตั้งแต่ ชั่วฟ้าดินสลายจนถึงแผลเก่า กลายเป็นสไตล์ของหม่อมน้อยในช่วงหลังๆ มานี้เลย แผลเก่าในเวอร์ชั่นนี้ไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องเนื้อหาจากบทประพันธ์ของไม้เมืองเดิม ที่คงแก่นเรื่องความรักอมตะของขวัญกับเรียมแห่งท้องทุ่งบางกะปิไว้ บอกเล่าอุปสรรคความรักจนไปถึงจุดจบโศกนาฏกรรมที่หลายคนเรียกว่า โรมิโอกับจูเลียต เวอร์ชั่นไทยก็ไม่น่าจะผิด

riam_04

แต่สิ่งที่โดดเด่นในงานแผลเก่าของหม่อมน้อยคือการใส่รายละเอียดของบริบททางสังคม วิถีชีวิตชาวนา ซึ่งต้องยอมรับว่าทำออกมาละเอียดตั้งแต่ทำนา เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว สีข้าว จนออกมาเป็นเม็ดข้าว ทุกอย่างดูใส่ใจไปหมด เพลงเกี่ยวข้าวแบบเดิมๆ ก็ย้อนเอามาให้คนรุ่นหลังได้ดูกัน โลเคชั่นก็ทำออกมาได้อย่างสวยงามสมกับคำว่าทุ่งทองแห่งบางกะปิ ยิ่งทำฉากผสมสี ผสมแสง ทำให้งานภาพออกมาสวยด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นสไตล์หนังของหม่อมน้อยที่โดดเด่นมาแล้วในหลายเรื่องก่อนหน้านี้ ทำให้คนดูหลายคนเกิดโหยหาอดีต (Nostalgia )

แผลเก่า คลอด้วยดนตรีประกอบตลอดเรื่องแทรกเสียงร้องเพลงเก่าจากเวอร์ชั่นเดิมออริจินัล๒๔๘๓ ไว้เป็นระยะๆ โดยดนตรีทำออกมาดีมาก แต่เสียอย่างตรงที่ปล่อยเยอะเกินไปจนล้นเอ่อเหมือนน้ำในคลองแสนแสบ ส่วนนักแสดงประกอบก็ดูเหมือนว่าจะเข้ามามีบทบาทและกวนบทหลักยิ่งทำให้ละครยืดออกไปแทนที่จะกระชับ การเลือกเอานักแสดงลูกครึ่งมารับบทนำไม่ใช่ปัญหาเลยเพราะทำออกมาได้ดีทั้งคู่ส่วนตัวละครอื่นๆก็ดีงามตามความเหมาะสมเพราะเป็นงานรวมศิษย์เก่าของหม่อมน้อย นักแสดงร่วมฉาก ตัวเล็ก ตัวใหญ่ ต่างมีชื่อเสียงในวงการกันทั้งนั้น โดยรวมก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าชื่นชมของหม่อมน้อย

แผลเก่าในด้านบริบทของสังคม วัฒนธรรม การเมือง : แผลเก่าเวอร์ชั่นนี้วางเรื่องให้อยู่ในปี๒๔๗๙-๒๔๘๒ เป็นการกำหนดฉากหลังที่ชัดเจนของบริบทการเมืองและสังคมในสมัยนั้น ถ้าย้อนดูตามประวัติศาสตร์การเมืองปี ๒๔๗๙ เป็นปีที่ต้นฉบับของไม้เมืองเดิม ออกตีพิมพ์พอดีและเป็น หนึ่งปีหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ความคิดของคนในสังคม การก้าวเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ สิ่งนี้ถูกฉาบลงไปบนตัวละครของเรียมที่ค่อยๆวิวัฒนาการก้าวจากสาวชาวนา สู่ผู้ดีบางกอก ก่อนที่จะถูกเปลือกของสังคมสมัยใหม่ล้อมตัวไว้ให้เป็นสตรีที่เพียบพร้อม ทันสมัย มีการศึกษาและมีชาติตระกูลที่ดี แต่แก่นแท้ของเรียมก็ยังเต็มไปด้วยความเป็นชาวบ้านธรรมดา***(อ่านเสริมข้างล่าง)

เรื่องของเรียมถ้าจะเปรียบจริงๆก็เหมือนกับคนในชาติสมัยนั้นที่ทุกคนทำตัวให้ดูศิวิไลซ์ ชาวบ้านต้องทำตามนโยบายชาตินิยม ที่ต้องทำก็เพราะเป็นนโยบายที่ทำให้โลกที่เจริญแล้วมองไทยว่าเป็นชาติที่มีอารยธรรม ชาตินิยมฉาบชาวบ้านไว้เพียงเปลือกเท่านั้น แต่ภายในก็ยังเหมือนเดิม หม่อมน้อยพยายามสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองเล็กๆลงบนแผลเก่า โดยใช้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามมาร่วมเป็นฉาก ตอนที่ไอ้ขวัญไปทำงานในเมืองเป็นลูกจ้างรถเข็นตรงกับปี ๒๔๘๒ อยู่ในช่วงที่โหมลัทธิชาตินิยมอย่างเบ่งบาน นิสิต นักศึกษาออกมาร่วมเรียกร้องดินแดนไทยคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งนำไปสู่ข้อพิพาทอินโดจีนในปี ๒๔๘๓ (ปีที่ภาพยนตร์แผลเก่าถูกสร้างเป็นครั้งแรก) หรือจะเป็นฉากเต้นรำ มาลานำไทย มีการเอาเพลงสวมหมวก ที่ชักชวนให้คนไทยออกมาสวมหมวกเพื่อให้ดูเป็นชาติที่ศิวิไลซ์ เพลงสวมหมวกนี้ก็มีจริงๆในยุคนั้น

อีกฉากที่ทำให้คนดูบาดเจ็บเหลือเกินคือฉากที่สมชายพูดกับกำนันเรืองว่า อยากให้เข้าใจในระบอบการปกครองใหม่ เพราะจะทำให้ชาวนาชาวไร่ อยู่ดีกินดีกว่าเดิม ซึ่งฉากนี้ตีเทียบเสียดสีได้อย่างเจ็บๆ เพราะนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง๒๔๗๕-๒๕๕๗ ถึงตอนนี้ชาวนาก็ยังไม่ได้อยู่ดีกินดี เหมือนอย่างที่ชนชั้นนำเคยกล่าวไว้ ความเจริญรุดหน้าเกิดเฉพาะในกลุ่มคนเมืองเท่านั้นและความศิวิไลซ์ฟุ่มเฟือยก็ยังมีอยู่ ในขณะที่ชาวบ้านยังข้นแค้นกันอยู่ ภาพของสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ จนถึงตอนนี้ แม้จะโลกาภิวัฒน์ทางด้านวัตถุ ไปมาก น้ำในคลองแสนแสบที่เปลี่ยนเป็นสีดำ แต่สิ่งที่ยังคงเดิมอยู่คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เมื่อย้อนกลับไปดูสังคมเก่าแบบในหนังเราก็ยังเห็นว่าปัจจุบันมันก็ยังมีอยู่ มันจึงเป็นเหมือนแผลเป็นของสังคมไทยที่เรายังเห็นมันจนชินไปแล้ว ตัวหนังแผลเก่าไม่ได้สะท้อนเพียงแง่มุมของความรักอมตะเท่านั้น แต่ตีลึกไปจนถึงบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์การเมือง วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วย

สุดท้ายแผลเก่าของหม่อมน้อย ถือว่าเป็นผลงานที่ดีเยี่ยมอีกเรื่องหนึ่งอาจจะเทียบเท่าได้กับชั่วฟ้าดินสลาย แต่คนดูไม่ต้องตีความลึกซึ้งอะไรถึงขนาดนั้น ดูง่าย เพลงเพราะ ภาพสวย ลองดูแล้วมองลึกดูว่าแผลเก่ายังเป็นแผลเดิมอยู่หรือเปล่าและเป็นรอยแผลเป็นอยู่หรือเปล่า หรือลบเลือนหายไปแล้ว ? อีกเรื่องที่น่าชื่นชมทีมสร้างคือการใส่ใจรายละเอียด การทำหนังอย่างมีการศึกษาหาข้อมูลที่ดี เพื่อให้ได้งานที่เนี๊ยบที่ดี

*** หากย้อนกลับดูผลงานของหม่อมน้อยเป็นที่น่าสังเกตว่าตัวละครหญิงในเรื่องหลายตัวละคร ล้วนถูกสังคมสมัยใหม่ล้อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและมีฉากหลังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเปลี่ยนขั้วอำนาจ การก้าวสู่สิ่งใหม่ ลบล้างสิ่งเก่า ทั้งนั้น เรียงไปตั้งแต่ เรื่องจันดารา ฉากหลังอยู่ในปี ๒๔๗๕ ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หญิงสาวที่ได้รับอิทธิพลเรื่องวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เห็นได้ชัดเลยคือ คุณบุญเลื่อง ถูกศิวิไลซ์เซชั่นเล่นจนเปลี่ยนไปจนกลายเป็นหญิงสมัยใหม่ในอุดมคติของชาติใหม่ยุคเปลี่ยนแปลง ไล่ไปจนถึงชั่วฟ้าดินสลาย ฉากหลังในปี ๒๔๗๖ พะโป้พบกับยุพดีที่พระนคร ยุพดีหญิงสาวที่เปิดรับความเจริญก้าวหน้าทางสังคมและทางจิตใจอย่างเต็มที่ พยายามเรียนรู้ พยายามเป็นในสิ่งที่เขาเรียกกันว่าคนที่เจริญแล้วและมีการศึกษา ยึดถือในแนวคิดสมัยใหม่ สำหรับเรื่องยุพดีเคยเขียนไว้แล้วใน เข้าใจในผู้หญิงที่ชื่อ ยุพดี ลองอ่านกันดู จนสุดท้ายสาวที่ติดกับความสมัยใหม่อีกคนก็คือเรียม โชคดีที่ยังชักเท้ากลับมาทัน

Leave a comment