สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล : ภาพสังคม วัฒนธรรมของไทย

บทประพันธ์สี่แผ่นดินของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบทประพันธ์ที่สะท้อนภาพวัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิตในยุครัตนโกสินทร์ตอนปลายได้อย่างดีที่สุด การจะคัดเลือก เหตุการณ์ที่สำคัญเข้าไว้ในบทละครเพลงสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลจึงต้องคัดเฉพาะสิ่งที่เห็นเด่นชัดตามยุคสมัยนั้นๆ โดยสามารถแบ่งเป็น 4 ยุคสมัย ได้แก่

163579-1-5360

 ยุคที่ 1 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สภาพบ้านเมืองและสังคมไทยผูกพันอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเห็นได้ชัด โดยวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ผูกพันกับสายน้ำเจ้าพระยาที่เปรียบเสมือนเส้นเลือกใหญ่ของประเทศ โดยสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ได้บรรยายถึงความสวยงามของสภาพบ้านเมืองในช่วงนั้นผ่านภาพของบ้านคลองบางหลวงว่า

 “บ้านของฉันนั้นมีลำคลองที่สวยงาม ยามบ่ายลงเล่นน้ำสำราญเบิกบานเรื่อยมา ยามเหนื่อยเราพักกาย นอนที่บนศาลา ดวงตะวันลับฟ้างามจับตาฉัน บ้านของฉันนั้นมีร่มเงาที่ร่มเย็น ต้นปีบเป็นที่เล่นหม้อข้าวหม้อแกงทุกวัน จำต้องลาแสนไกล เมื่อไรจะพบกัน บ้านของฉันที่คลองบางหลวง”

ยุคที่1 นี้ สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลไม่ได้นำเสนอเพียงสภาพของสังคมแต่ยังรวมไปถึงขนบธรรมเนียม ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับวังหลวง ดังปรากฏในฉากชาววังที่สะท้อนขนบธรรมเนียมและแนวปฏิบัติในการนุ่งห่มของชาววังว่า

“อยากจะงามสมอย่างชาววังเราต้องพิถีพิถัน เครื่องนุ่งห่มเขาถือมงคล ต้องดูสีตามวันอย่างวันนี้นี่คือวันจันทร์ ถ้านุ่งตามวันคือเหลือง แล้วสไบต้องใช้บานเย็น จะงามและเหมาะสม”

ธรรมเนียมการใช้คำราชาศัพท์ต่างระดับกับเจ้านายที่มีฐานันดรศักดิ์ต่างกัน ปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งว่า  “ว่าเสด็จฯ จะทูลเสด็จฯ ว่าจะเสด็จฯ หรือไม่เสด็จฯ ถ้าแม้เสด็จฯ เย็นนี้เสด็จฯ ก็พร้อมจะเสด็จฯกัน”

ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้มุ่งประเด็นที่ว่าที่ประเทศชาติเจริญได้ด้วยพระราชกรณียกิจและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของสถาบันพระมหากษัตริย์ปรากฎในละครช่วงหนึ่งผ่านสายตาของพลอยว่า

“จากรอยเท้าที่เดินตามเสด็จฯ ทำให้ดวงตาของอิฉัน ได้พบเห็นอะไรมากมาย และอิฉันได้เรียนรู้ว่า วังคือศูนย์รวมของทุกอย่าง แต่ความเจริญที่เกิดขึ้นก็มิได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วในวัง หากแต่ได้แผ่ขยายออกไปทั่วทั้งแผ่นดิน อิฉันจึงเข้าใจ ว่าเพราะเหตุใด คนไทยจึงมีสิ่งหนึ่งที่ยึดเป็นแกนหลัก เป็นที่พึ่ง เป็นร่มโพ ร่มไทรในชีวิตเหมือนกัน”

ความเจริญก้าวหน้าทางด้านสังคมและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เริ่มมีปรากฏให้เห็นเด่นชัดภายในยุคนี้ โดยประชาชนยังมีความเชื่อว่าเป็นเพราะพระบารมีของพระมหากษัตริย์ดังปรากฎในละครช่วงที่กล่าวถึงความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในสมัยนั้นว่า

“ใต้ร่มพระบารมี พระบารมีขององค์พระเจ้าแผ่นดิน เหล่าพสกนิกรทุกคนทุกถิ่นร่มเย็นกินดีอยู่ดี มีรถรางและมีรถไฟ ไปใกล้ไกลทุกที่ คิดถึงใครไม่ต้องรอรี ไปรษณีย์ตู้แดงช่วยฝากหนังสือ”

นอกจากประเด็นในการมุ่งสะท้อนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญเช่น ก่อตั้งโรงพยาบาลวังหลังและการเลิกทาส ปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งว่า

“พระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งพระทัย อยากให้คนที่ทุกคนที่เกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกัน ทรงใช้เวลาถึงสามสิบเอ็ดปี กว่าที่ทาสคนสุดท้ายจะถูกปลดโซ่ตรวนออก พระองค์ท่านทรงทราบว่า การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ใช่ว่าจะทำได้เพียงชั่วข้ามคืน หากฝืนทำไป อาจเกิดการต่อต้าน และสงครามในแผ่นดิน สามสิบเอ็ดปีที่พระองค์ท่านทรงอดทนรอคอย ทำให้ไม่มีการสูญเสียเลือดแม้ซักหยดบนแผ่นดินสยาม”

สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้นำเหตุการณ์ที่มีความสำคัญและสะท้อนสภาพวิถีชีวิตและสังคมไทยในยุคสมัยนั้นเช่น การเสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังบางปะอิน ธรรมเนียมการแต่งงาน รวมไปถึงความเชื่อโบราณเกี่ยวกับการสวรรคตที่เชื่อกันว่าหากมีดาวหางมาปรากฎที่บนฟ้าผู้มีบุญจะมีอันเป็นไป สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้บรรยายถึงภาพเหตุการณ์การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“ในหลวงของแผ่นดิน  เหล่าประชาน้ำตาริน ท่วมฟ้า ท่วมดิน ท่วมหัวใจ ใต้แสงแห่งเทียนที่เคยสว่างไสว มืดมิดลงไป ความหวังทั้งมวลดับมอดลง น้ำตาเสียงปี่ดังขึ้น อย่างน่าขนลุก พร้อมกับเปลวเทียนในมือเริ่มดับลงที่ละน้อย พร้อมกับสายฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสาย”

unnamed

ยุคที่ 2 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้า การรับวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตก ความเจริญรุ่งเรืองของศิลปะวิทยาการ ปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งผ่านสายตาของพลอยว่า “ชีวิตของอิฉันก็ได้ดำเนินมาถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อิฉันมีครอบครัวที่อบอุ่น มีสามีที่แสนดี มีลูกชายที่น่ารักถึง สาม คน  แล้วสุดท้ายอิฉันก็ได้ลูกสาวสมดังที่หวังไว้ แต่ทุกอย่างก็มีผิดพลาดเสมอ เสด็จที่เป็นเสมือนแม่ที่สองของอิฉันได้สิ้นพระชนม์ลง วังหลวงที่เคยป็นสัญลักษณ์แห่งขนบธรรมเนียมแต่โบราณก็ดูเหมือนจะหมดแสงลงไป แต่สิ่งที่มาทดแทนนั้นก็คือศิลปะและวิทยาการใหม่ๆที่ผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ความเจริญก้าวหน้านำพาประเทศสู่ความศิวิไลซ์ สภาพบ้านเมืองมีแต่ความสุขและความรื่นรมย์ ความนิยมในการส่งบุตรหลานข้าราชการไปเรียนต่อที่ประเทศฝั่งตะวันตกเพื่อนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศ โดยความนิยมดังกล่าวได้สะท้อนผ่านทางครอบครัวของพลอย โดยมีคุณเปรมเป็นผู้ริเริ่มความคิดดังกล่าวปรากฏในบทละครว่า

“เชื่อฉันสิแม่พลอย ทุกวันนี้บ้านเมืองเราก็เจริญขึ้นทุกวัน ใครๆก็ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกกันทั้งนั้น อีกหน่อยถ้าใครไม่มีวิชาความรู้จะอยู่ยาก ถ้าเราไม่ส่งลูกไป ลูกเราจะตามคนอื่นเค้าไม่ทันนะแม่พลอย”

ในยุคของพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เพียงแต่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้นแต่เป็นรอยต่อระหว่างประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีกด้วย ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตทำให้คนรุ่นเก่าอย่างพลอยต้องพยายามปรับตัว ปรากฏในละครตอนหนึ่งที่ตาอั้นลูกชายหัวสมัยใหม่พูดกับพลอยว่า “คุณแม่ครับ  โลกมันเปลี่ยนไปแล้วนะครับ จะให้ผู้หญิงบ้านเรา นั่งกินหมาก นุ่งโจงกระเบน หรือครับ มันล้าสมัยแล้วครับคุณแม่ ผมแค่อยากอธิบายสิ่งที่ผมคิดเท่านั้นนะครับ อีกหน่อยบ้านเมืองเราต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก ผมอยากให้คุณแม่ทำใจซะแต่เนิ่นๆเลยนะครับ ว่าอะไรที่คอยมันคอยถ่วงความเจริญของประเทศชาติไว้ ก็ต้องถูกเปลี่ยนให้หมด”

 ยุคที่ 3 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ได้สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมในยุคนี้ว่าเป็นยุคที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำ การหลั่งไหลของวัฒนธรรมของต่างชาตินำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอื่นที่กำลังจะตามมา ปรากฏในบทละครตอนต้นแผ่นดินที่ 3 ว่า

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาทุกด้าน เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุ่นแรง ส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ ข้าราชการนับพันคนต้องออกจากงานเพื่อรักษาดุลงบประมาณของแผ่นดิน หนึ่งในนั้นก็คือคุณเปรม ที่ก่อนเคยเป็นคนขยันยิ่งนัก แต่กลับกลายเป็นคนหมดอาลัยตายอยาก

และด้วยปัญหาข้าวยากหมากแพงจนแม้กระทั้งสาวชาววังอย่างช้อยต้องดิ้นรนออกมาทำมาหากินเพื่อยังชีพ คุณอุ่นที่เคยเพียบพร้อมไปทั้งทรัพย์สมบัติจนวันนี้ก็หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง จนถึงขั้นต้องมาขอให้อิฉันซื้อบ้านที่คลองบางหลวง จากที่เคยไล่อิฉันออกจากบ้าน กลับต้องมาขออาศัยอยู่กับอิฉัน หากแต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ต่างจากการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอื่นที่เกิดขึ้นที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามา”

พระบรมมหาราชวัง

 

ในยุคนี้ สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้ผูกโยงเข้ากับเรื่องการเมืองการปกครอง โดยสะท้อนผ่านสายตาของตาอั้น ในเรื่องของวิถีชีวิต สภาพสังคมความเป็นอยู่ในแผ่นดินนี้เปลี่ยนแปลงไปตามความผันผวนของการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคนี้มากยิ่งขึ้นจนถึงขั้นการแตกแยกทางความคิด สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลสะท้อนภาพการแตกแยกทางความคิดภายในบ้านของพลอยตอนหนึ่งว่า

“ทำไมทุกอย่างถึงเปลี่ยนไปมากขนาดนี้ คนรักใครกลมเกลียวกลับมาทะเลาะแตกคอกัน แม่ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น แม่จะทำอย่างไรดี อ๊อด มันมืดแปดด้านไปหมด นี่ถ้าคุณพ่อยังอยู่ คุณพ่อคงจะให้คำตอบกับแม่ได้”

 

ยุคที่ 4 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

 สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้สะท้อนภาพสังคมในยุคที่ 4 ในตอนต้นหลังจากการเปลี่ยนแผ่นดินนี้ว่า การเปลี่ยนแผ่นดินครั้งนี้ เป็นครั้งที่อิฉันอ้างว้างและไร้ที่พึ่งมากที่สุด แผ่นดินถึงจะได้ชื่อว่ามีกษัตริย์แต่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ท่านก็ยังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก และทรงพำนักอยู่ไกลถึงต่างประเทศ แผ่นดินใหม่จึงเปรียบเสมือนบ้านที่ขาดหัวหน้าครอบครัว คนในบ้านก็ไร้ที่พึ่งไร้ที่ยึดเหนียว ซึ่งเหมือนกับบ้านของอิฉัน ที่คนในบ้านต่างมีอันพลัดพรากจากกันไปคนละทิศละทาง คุณอุ่นที่ขอมาอยู่ด้วยก็สิ้นลมลง ตาอ้นถูกย้ายไปจองจำไกลถึงเกาะตะรุเตา ประไพและตาอั้นต่างก็มีความคิดเตลิดไปไกลกว่าที่อิฉันจะตามทัน ทุกอย่างเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน แม้แต่ชื่อประเทศที่มีมาช้านานก็ถูกเปลี่ยนจากสยามเป็นประเทศไทย

ผลกระทบจากการรับวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกทำให้ธรรมเนียมปฏิบัติเปลี่ยนไปรวมถึงธรรมเนียมเกี่ยวกับการแต่งงานในสมัยใหม่ผ่านตัวละครตาอั้นที่ว่า “บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป ใครได้เกี่ยวดองเจ้า คงไม่ดีเช่นเก่า เดี๋ยวจะถูกมองเข้า ว่าเป็นพวกต่อต้าน จะอยู่กันไปอย่างไร”

สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลยังได้สะท้อนภาพของนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชาติหรือที่เรียกกันว่านโยบายชาตินิยมในยุคของจอมพลป.พิบูล สงครามที่ปรากฏในบทละครช่วงหนึ่งที่แม่ช้อยตัวแทนของคนรุ่นเก่าบ่นเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ประชาชนใส่หมวกว่า

“แต่อากาศมันร้อนอบอ้าวซะเหลือเกิน ทำไมจะต้องมาใส่อยู่ตลอดเวลาก็ไม่รู้ไอ้หมวกเนี่ย  เหงื่อไหลท่วมหัว ท่วมหูหมดแล้ว”

การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมไทยในยุคสมัยนี้ส่งผลต่อรูปแบบการดำรงชีวิตของสตรีไทยในยุคนี้ด้วย โดยช่วงหนึ่งที่ช้อยได้สะท้อนภาพของผู้หญิงยุคใหม่เปรียบเทียบกับผู้หญิงยุคเก่าในฉากรอดไหม ว่า

“รอดหรือจะไม่รอด รุ่นเธอยังไม่แน่หรอก ชายหญิงในยุคนี้ชอบการสวมกอด แล้วจะรอดไหม รำไทยเธอเลี่ยงตลอด ชอบรำอย่างพวกฝรั่ง จับมือจับกันไปปากก็พร่ำพลอด คืนไหนเธอจะรอด จะไปกับใครมีเงินทอง ร่างกายน้องพร้อมจะถอด เธอจึงถอดชุดได้ว่องไว จบคืนเร่าร้อนลงที่ห้องคลอด จะรอดไหม”

 ยุคที่ 4 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้นำเสนอถึงเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยและการเข้าร่วมสงคราม ผ่านฉากแผ่นดินร้อนในละครเวทีตอนหนึ่งว่า

“แผ่นดินร้อน กองทัพญี่ปุ่น มุ่งหมายมารุกราน จัดทัพรุกรานอาณาเขตไทย แผ่นดินโดนภัยร้ายยิ่งยิ่งใหญ่ จะสู้เช่นไรคนคนไทยต้องยอม”

ผลจากสงครามญี่ปุ่นทำให้ประเทศชาติเสียหาย สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล สะท้อนเหตุการณ์นี้ผ่านบ้านคลองพ่อยมของคุณเปรมที่ถูกญี่ปุ่นทิ้งระเบิดพังพินาศเปรียบเสมือนประเทศชาติที่พังเสียหายเช่นกัน ปรากฏในบทละครตอนหนึ่งที่บรรยายถึงการเสียหายจากเหตุการณ์สงครามญี่ปุ่นว่า

“ บ้านของความทรงจำผูกพันมากมาย บ้านของเราถึงคราวทลายสิ้นไปคงเหลือเพียงภาพวันเก่าในหัวใจ เพียงคิดไปแล้วใจก็หาย”

 ทั้งนี้เคยมีบทวิเคราะห์หนึ่งระบุว่า “สี่แผ่นดิน” เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการจะเชิดชูอุดมการณ์กษัตริยนิยมและต่อสู้กับแนวทางของรัฐบาลในทศวรรษ 2490 ที่ต้องการจะลดทอนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ “สี่แผ่นดิน” บรรยายภาพความรุ่งเรืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพยายามชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้นำมาซึ่งความตกต่ำทางสังคมและการเมืองเป็นอย่างมาก

Leave a comment